การปลูกมะพร้าว
มะพร้าวสามารถขึ้นได้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
แต่ขึ้นได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นกลางหรือเป็นกรดเล็กน้อยคือ (pH ระหว่าง
6-7) ลักษณะดินร่วน หรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี
มีฝนตกกระจายสม่ำเสมอแทบทุกเดือน อากาศอบอุ่น หรือค่อนข้างร้อน
และมีแสงแดดมาก เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุยาวนานมาก
หลังจากปลูกแล้ว 5-6 ปี จึงให้ผล การสร้างสวนมะพร้าวต้องลงทุนพอสมควร
และใช้เวลานาน จึงควรทราบสภาพแวดล้อมที่มะพร้าวชอบ
ลักษณะวิธีการคัดเลือกพันธุ์ การเพาะชำ การคัดเลือกหน่อ การปลูก
ตลอดจนการปฏิบัติดูแลรักษาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากสวนมะพร้าวอย่างคุ้มค่า
พันธุ์ที่ใช้ปลูกมี 2 กลุ่มคือ ประเภทต้นเตี้ย และประเภทต้นสูง
ประเภทต้นเตี้ย
มีการผสมตัวเองค่อนข้างสูงจึงมักให้ผลดกและไม่ค่อยกลายพันธุ์
ส่วนใหญ่นิยมปลูกไว้เพื่อรับประทานผลอ่อน
เพราะในขณะที่ผลยังไม่แก่อายุประมาณ 4 เดือน เนื้อมีลักษณะอ่อนนุ่ม
และน้ำมีรสหวาน บางพันธุ์มีกลิ่นหอม ต้นเตี้ยโตเต็มที่สูงประมาณ 12 เมตร
ให้ผลเมื่ออายุ 3-4 ปี มะพร้าวประเภทนี้มีหลายพันธุ์
แต่ละพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น เปลือกสีเขียวเหลือง นวล น้ำตาลแดง
หรือสีส้ม น้ำมีรสหวาน มีกลิ่นหอม มะพร้าวต้นเตี้ยทุกพันธุ์มีผลขนาดเล็ก
เมื่อผลแก่มีเนื้อบางและน้อย เช่น พันธุ์นกคุ่ม หมูสีเขียว หมูสีเหลือง
นาฬิกา น้ำหอม มะพร้าวเตี้ย มะพร้าวไฟ
ประเภทต้นสูง มักผสมข้ามพันธุ์คือ ในแต่ละช่อดอก (จั่น) หนึ่งๆ
ดอกตัวผู้จะค่อยๆ ทยอยบาน
และร่วงไปหมดก่อนที่ดอกตัวเมียในจั่นนั้นจะเริ่มบานจึงไม่มีโอกาสผสมตัวเอง
มะพร้าวประเภทนี้มักใช้ผลแก่เพื่อประกอบอาหารหรือใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช
เพราะมีผลโตเนื้อหนาปริมาณเนื้อมาก ต้นสูงโตเต็มที่ประมาณ 18 เมตร
ให้ผลเมื่ออายุ 5-6 ปี มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น พันธุ์กะโหลก มะพร้าวกลาง
ปากจก ทะลายร้อย เปลือกหวาน
สำหรับพันธุ์ที่ใช้ปลูกนั้นแม้ว่ามะพร้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกกันมาแต่
ดั้งเดิม จะมีลักษณะดีหลายอย่าง เช่น มีขนาดผลค่อนข้างโต
และทนทานต่อสภาพอากาศแล้งได้ดี
แต่ในวงการอุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันได้พัฒนาทางด้านคุณภาพมะพร้าวมากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร
กรมวิชาการเกษตร
มีหน้าที่รับผิดชอบด้านวิจัยและพัฒนามะพร้าวได้ผลิตมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม
ซึ่งได้ผ่านการรับรองพันธุ์ออกมาแล้ว 3 พันธุ์ ดังนี้
1. พันธุ์สวีลูกผสม 1 (Sawi Hybrid No.1)
เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างมะพร้าวพันธุ์มลายูสีเหลือง
ต้นเตี้ย x เวสท์อัฟริกันต้นสูง (MYD x WAT)
ลักษณะเด่นของมะพร้าวพันธุ์นี้คือมีอายุการตกผลเร็ว
สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 ผลผลิตเฉลี่ย 2,781 ผลต่อไร่
หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง 566 กก.ต่อไร่ จากจำนวนมะพร้าว 22 ต้นต่อไร่
เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงถึง 64 เปอร์เซ็นต์
จึงเป็นมะพร้าวที่เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวมาก
2. พันธุ์ชุมพรลูกผสม 60-1 (Chumphon Hybrid 60-1)
เป็นมะพร้าวลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง x
ไทยต้นสูง สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีที่ 5 หลังจากปลูก
ขนาดผลมีตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,257 ผลต่อไร่
หรือคิดเป็นน้ำหนักมะพร้าวแห้งสูงถึง 628 กก.ต่อไร่
เนื้อมะพร้าวแห้งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง 63 เปอร์เซ็นต์
เนื่องจากขนาดผลของมะพร้าวพันธุ์นี้ค่อนข้างโตกว่าพันธุ์สวีลูกผสม 1
จึงสามารถจำหน่ายได้ทั้งผลสดและในรูปมะพร้าวแห้งส่งโรงงานสกัดน้ำมัน
มะพร้าวลูกผสมทั้ง 2 พันธุ์ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเกือบ 2 เท่า
กล่าวคือ พันธุ์ไทยให้ผลผลิต 1,084 ผลต่อไร่ คิดเป็นผลผลิตเนื้อมะพร้าวแห้ง
374 กก./ไร่/ปี และมีปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 59-60 เปอร์เซ็นต์
3.พันธุ์ลูกผสมชุมพร 2
เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์ไทยต้นสูง
ผลขนาดกลางถึงใหญ่
ทำให้สามารถจำหน่ายได้ทั้งรูปผลสดและแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมัน
ลักษณะเด่นคือ ให้ผลเร็ว เริ่มเก็บได้เมื่ออายุ 4 ปีครึ่ง
ผลขนาดกลางถึงใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันประมาณ 66% ผลผลิตมะพร้าวแห้ง
207-208 กก./ไร่/ปี เนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 261 กรัม/ผล
การเก็บเกี่ยว (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2547)
มะพร้าวออกดอกโดยเฉลี่ยปีละ 12 จั่น ถ้าได้รับการดูแลดีจะติดผลทุกจั่น
ได้ผลผลิตเดือนละ 1 ครั้ง
มะพร้าวให้ผลผลิตน้อยระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม
ต่อจากนั้นจะเก็บมะพร้าวได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงที่เก็บผลได้มากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
ผลมะพร้าวเริ่มแก่เมื่ออายุประมาณ 11-12 เดือน
เกษตรกรนิยมสอยมะพร้าวทุกๆ 45-60 วัน
โดยนิยมใช้ไม้ไผ่ลำยาวๆที่มีตะขอผูกติดปลายลำ
ใช้ตะขอเกี่ยวทะลายที่มีผลแก่แล้วดึงกระตุกให้ผลหลุดลงมา
แต่ถ้ามะพร้าวสูงมาก มักใช้ลิงในการเก็บแทน |